องค์การบริหารส่วนตำบลปราสาทเยอ

"ยึดมั่นธรรมาภิบาล บริการเพื่่อประชาชน"

สถานที่สำคัญ

วัดปราสาทเยอเหนือ

                วัดปราสาทเยอเหนือ ตั้งอยู่ในบ้านปราสาทเยอเหนือ ตำบลปราสาทเยอ อำเถอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ อายุประมาณ 200 กว่าปี สร้างขึ้นโดยชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเยอที่ได้รับอารยธรรมทางขอมมา ดังนั้น สิ่งก่อสร้างในวัดจึงคล้ายคลึงศิลปะแบบขอมโบราณผสมสมัยใหม่ โดยวัดมีความเจริญมากในสมัยที่หลวงพ่อมุมปกครองดูแล เพราะศรัทธาในวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ พูดน้อย แต่มีเมตตาสูงมาก อีกทั้ง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกฐินต้นในจังหวัด และวัดปราสาทเยอเหนือก็เป็นวัดแรกที่ทรงพระราชทานกฐินต้น

                 นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีสิ่งสำคัญ คือ พระประธาน, สถูปเจดีย์ และ เจดีย์ทรงธาตุพนม ที่ให้ทุกท่านได้กราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว

ปราสาทเยอ

             “ปราสาทเยอ” อยู่วัดปราสาทเยอเหนือ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง เป็นโบราณสถานในศิลปะเขมร อยู่ในสภาพหักพัง มีลักษณะเป็นเนินโบราณมีชิ้นส่วนของหินทราย อิฐ ศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป ตัวปราสาทสร้างด้วยอิฐ หินทราย ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ประมาณ ๓ เมตร สูงประมาร ๔.๕๐ เมตร ชิ้นส่วนอาคารที่เหลืออยู่ได้แก่ กรอบประตูหินทราย ด้านทิศตะวันออกสองประตู มีทับหลังตกอยู่สองชิ้น เป็นภาพบุคคลอยู่บนเกียรติมุข กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกมา ทั้งสองข้างมีพวงอุบะ และใบไม้ม้วน ปราสาทแห่งนี้สร้างเมื่อประมาณพุทธศวตรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘

ซุ้มประตูโขง

                “ซุ้มประตูโขงของวัดปราสาทเยอเหนือ” ความงดงามของประตูโขงของวัดที่เป็นศิลปะแบบบายน (เขมร)ซึ่งเป็นปูนปั้นแต่ยังคงมีความงดงามไม่แพ้หินทราย ช่างที่ทำงานศิลปกรรมชิ้นนี้น่าจะมีความชำนาญ จึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ประณีตงดงามไม่แพ้หินทราย ซุ้มประตูโขงที่วัดปราสาทเยอเหนือนี้ มีความโดดเด่นทางศิลปกรรมมาก มีความชัดเจนของอารยธรรม ท้องถิ่น ทำให้บรรยากาศมีความเข้มขลัง สิ่งที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของ ฮินดู – พราหมณ์ คือนางอัปสรา หรือ อัปสร ซึ่งคำว่า “อัปสร” นั้น มาจากคำว่า “อัป” (หมายถึง น้ำ) และ “สร” (หมายถึง การเคลื่อนไป) อัปสร จึงหมายถึง ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ นางอัปสรมีอำนาจแปลงกายได้ ทั้งยังมีความสามารถในการขับร้องและเต้นรำเป็นอย่างยิ่ง ในราชสำนักของพระอินทร์มีนางอัปสรอยู่ 26 ตน แต่ละตนมีความสามารถในเชิงศิลปะต่างๆ กัน

บุคคลสำคัญ

                    เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2514 พสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มีโอกาสต้อนรับเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ ซึ่งนับว่าเป็นวัดแรกของภาคอีสานที่ล้นเกล้าฯได้เสร็จพระราชดำเนินพระราชทานกฐินส่วนพระองค์ พสกนิกรได้เข้าเฝ้าอย่าล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนัก พสกนิกรไม่ยอมลุกหนีจากที่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝนเช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น พระองค์ทรงให้ทางราชการสร้างศาลา ภ.ป.ร. ถวายแก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ.2515
ภาพถ่ายประกอบที่ไม่มีลายน้ำ จาก : หนังสือรำลึก 40 ปี กฐินพระราชทาน
(วัดแห่งแรกที่มี “กฐินต้นพระราชทาน”)

หลวงพ่อมุม

ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อมุม อินทปญโญ (ย่อ)
              พระครูประสาธน์ขันธคุณ (หลวงพ่อมุม อินทปญโญ) นามสกุล บุญโญ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2429 ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เกิด ณ บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ (เดิมเป็นจังหวัดขุขันธ์) บิดามารดาเป็นชาวนา ชาวไร่ ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีที่วัดเป็นส่วนใหญ่ โยมบิดา ชื่อ มาก บุญโญ โยมมารดา ชื่อ อิ่ม บุญโญ มีพี่น้องที่ถือกำเนิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 2 คน พระครูประสาธน์ขันธคุณ บรรพชาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2441 อายุ 12 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีอาจารย์พิมพ์ เป็นผู้บวชให้ พระครูประสาธน์ขันธคุณ อุปสมบถเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2449 อายุ 20 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีเจ้าอธิการปริม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพรหมมา วัดสำโรงระวี เป็นกรรมวาจารย์ พระอธิการทอง วัดไพรบึง เป็นอนุสาวนาจารย์