🔶ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๖๒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๖
๑. หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น หมายความว่า ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (มาตรา ๔)
๒. หน้าที่และอำนาจการจัดการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง หรือจัดการเลือกตั้งเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งมิใช่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทน (มาตรา ๕)
๓. การประกาศให้มีการเลือกตั้ง เมื่อมีกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศให้มีการเลือกตั้ง การประกาศต้องอย่างน้อยต้องมีการกำหนดเรื่อง ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๑๒)
๑) วันเลือกตั้ง
๒) วันรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกิน ๑๐ วัน นับแต่วันประกาศให้มีการเลือกตั้ง และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า ๕ วัน
๓) สถานที่รับสมัครเลือกตั้ง
๔) จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะมีการเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือผู้บริหารท้องถิ่นในเขตเลือกตั้ง
๕) จำนวนเขตเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบลหรือเขตท้องที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง
๖) หลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง
๔. การดำเนินการเลือกตั้ง
(๑) ผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กำหนดให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ (มาตรา ๒๕)
๑) รับสมัครเลือกตั้ง (มาตรา ๔๑)
๒) กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง (มาตรา ๒๓)
๓) แต่งตั้งและจัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง (มาตรา ๒๘)
๔) ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและดำเนินการเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา ๔๓)
๕) ดำเนินการเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ และมาตรา ๑๐๕)
๖) ดำเนินการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (มาตรา ๙๓)
๗) กำหนดบัตรปลอมเป็นบัตรเสีย (มาตรา ๑๐๐)